แนะนำสาขา
โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2546 เพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น เนื่องจากในปัจจุบันมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นเป็นผลให้ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานสาขาต่างๆ มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร จึงเล็งเห็นความสำคัญในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยดำเนินเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2546 : เปิดสอนสาขาวิชาบริหารธุรกิจ การเงินและการธนาคาร
พ.ศ. 2548 : โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ สาขาการเงินและการธนาคาร เปิดสอน 1 ภาควิชา คือ ภาควิชาการเงินและการบัญชี กลุ่มวิชาการเงินและการธนาคาร
พ.ศ. 2549 : โปรแกรมวิชาบริหารธุรกิจ สาขาการเงินและการธนาคารเปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ แขนงวิชาการเงินและการธนาคาร
พ.ศ. 2551 : เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาวิชาบริหารธุรกิจ ประกอบด้วยแขนงวิชาการเงินและการธนาคาร ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีในหลักสูตรต่าง ๆ ดังนี้
1. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) สาขาวิชาการเงินการธนาคาร
2. หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) ต่อเนื่องสาขาวิชาบริหารธุรกิจ (แขนงวิชาการเงินและการธนาคาร)
3. หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต (รป.บ.) สาขาวิชาการจัดการการคลัง
นอกจากการจัดการเรียนการสอน แก่นักศึกษาภาคปกติแล้ว ในปัจจุบันหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ สาขาการเงินและการธนาคาร คณะวิทยาการจัดการ ยังเปิดรับนักศึกษาภาค กศ.บท. เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งทำการเปิด ณ ศูนย์ให้การศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ความสำคัญ
ภาคธุรกิจการเงินและการธนาคาร เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจ การพาณิชย์และการเงินของประเทศ มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าสามารถแข่งขันได้และรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมภายในประเทศ การดำเนินธุรกิจจึงต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ทั้งในด้านของการบริหารในองค์รวม ความรู้เฉพาะด้านที่สามารถนำไปแสวงหาวิธีหรือกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้องค์กร ตลอดจนความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล
ปรัชญา
บัณฑิตสาขาวิชาการเงินและการธนาคาร ต้องเป็นผู้รอบรู้ในการใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนามนุษย์ และสร้างวินัยในการออมอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม เปี่ยมด้วยจิตสำนึกที่เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ บ้านเมือง และท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง
วัตถุประสงค์
1. เพื่อปลูกฝังจิตสํานึกที่ดีด้านความรับผิดชอบต่องาน ต่อสังคม รวมถึงการพัฒนา ด้านคุณธรรมและจริยธรรม ความซื่อสัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างจิตสํานึกของจรรยาบรรณในวิชาชีพ
2. เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาชีพการเงินและการธนาคารให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตได้
3. เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์และใช้ความรู้ความเข้าใจ ในแนวคิด หลักการ ทฤษฎี และกระบวนการการคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน
4. เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความสามารถในการทํางานเป็นกลุ่ม การแสดงถึงภาวะผู้นําความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ความสามารถในการวางแผนและรับผิดชอบในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
5. เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความสามารถในการวิเคราะห์เชิงตัวเลข ใช้เทคนิคทางคณิตศาสตร์และสถิติ ความสามารถในการสื่อสารทั้งการพูด การเขียน และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม